ผู้ติดตาม

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปิดฉากแข่งเครื่องบินกระดาษทำสถิติ 16.21 วินาที

ด.ช.ธนพล ดู่ป้อง

ปิดฉากแข่งเครื่องบินกระดาษ เด็กโคราชทำสถิติร่อนนานสุด 16.31 วินาที ส่วนรุ่นเล็กเด็กขอนแก่นทำสถิติ 14.06 วินาที ได้สิทธิเป็นตัวแทนประเทศบินไปแข่งที่ญี่ปุ่นทั้งคู่ ด้าน “น้องหม่อง” เซเลบเครื่องบินกระดาษ พลาดเข้ารอบชิง แต่ไม่เสียใจ พร้อมลงแข่งใหม่ปีหน้า
      
       การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 7 ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้คว้าชัยในการแข่งขันระดับผู้ใหญ่ คือ ด.ช.ธนาธิป เหมือนทอง อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 จากโรงเรียนหนองกราดวัฒนา จ.นครราชสีมา ซึ่งทำสถิติร่อนเครื่องบินกระดาษพับนานที่สุด 16.21 วินาที ในรอบชิงชนะเลิศ และผู้คว้าชัยในระดับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี คือ ด.ช.ธนพล ดู่ป้อง อายุ 9 ปี นักเรียนชั้น ป.4 จากโรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น ซึ่งทำสถิติร่อนเครื่องบินกระดาษพับนานที่สุด 14.04 วินาที ในรอบชิงชนะเลิศ
      
       ด.ช.ธนพล ซึ่งเข้ามาแข่งขันในปีแรก และชนะเลิศจนได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับที่ญี่ปุ่น พร้อมกับ ด.ช.ธนาธิป กล่าวว่า ที่โรงเรียนให้การสนับสนุนการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับเป็นอย่างดี และคุณครูได้ตั้งชุมนุมเครื่องบินกระดาษพับ เพื่อสอนพับเครื่องบินกระดาษแบบต่างๆ กว่า 10 ชนิด
      
       “ครูสอนให้ปรับหางเสือ เพื่อให้ร่อนเครื่องบินได้นาน และมีเทคนิค คือ หากเครื่องบินตกเร็วให้ปรับหางเสือขึ้น และหากโยนเครื่องบินไม่ขึ้นให้ปรับหางเสือลง ก่อนมาแข่งก็ซ้อมทุกวัน โดยสถิติที่ดีที่สุด คือ 17 วินาที” ด.ช.ธนพล กล่าว
      
       ด้าน อ.นิตยา อรรคษร ครูวิทยาศาสตร์ระดับชั้น ป.4 โรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น กล่าวว่าเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับในโรงเรียน โดยระหว่างการสอนวิทยาศาสตร์จะให้เด็กๆ ทดลองพับกระดาษตามใจชอบ และลองร่อนดู จากนั้นจะให้พับกระดาษในรูปแบบเดียวกับที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้แล้วทดลองร่อน เพื่อเปรียบเทียบการทำเวลาร่อนนานของเครื่องบินแต่ละแบบ
      
       อ.นิตยา กล่าวว่า แรกๆ ด.ช.ธนพล นั้น ทำสถิติได้ไม่ดี แต่ได้พัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ โดยเทคนิคในการพับเครื่องบินกระดาษ คือ ต้องวัดทุกครั้งให้ละเอียดที่สุด และต้องกรีดให้เรียบเป็นเส้นตรง สุดท้ายคือ ต้องรู้จักปรับหางเสือ ซึ่งนักเรียนแต่ละคนมีเทคนิคการปรับหางเสือที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ไม่สามารถฝึกให้นักเรียนหญิงเล่นเครื่องบินกระดาษได้ เพราะนักเรียนหญิงจะพับได้ แต่มักไม่กล้าเล่น-ไม่กล้าร่อนเครื่องบิน
      
       ด้าน นายสุเทพ นิยมพงศ์ อายุ 31 ปี วิศวกรไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนของเยอรมนี ซึ่งคว้ารองชนะเลิศจากการทำสถิติ 15.16 วินาที กล่าวว่า การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับนั้น เป็นการผสมผสานระหว่างหลักวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และการออกกำลังกาย และใช้หลักการพลศาสตร์ แต่สิ่งสำคัญในการแข่งขัน คือ “สมาธิ” เพราะแม้จะฝึกฝนมาดี แต่การแข่งขันนั้นขึ้นอยู่กับสติและสมาธิ
 

    
       พร้อมกันนี้ ด.ช.หม่อง ทองดี นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านห้วยทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย แต่พลาดการเข้าชิงชนะเลิศ ซึ่งเด็กชายกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ไม่เสียใจ และปีหน้าจะมาแข่งใหม่ โดยเตรียมพร้อมโดยการฝึกซ้อมทุกวัน และใช้เทคนิคเดิม คือ ปรับปีกให้เท่ากันและรู้จักปรับหางเสือ
      
       สำหรับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับครั้งนี้ จัดชิงชนะเลิศภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2553 ในวันที่ 22 ส.ค.53 ณ ศูนย์การแสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น